พหุภาษา
"ภาษาเปิดโลกให้กับเด็กๆ "

ส่วนใหญ่แล้ว เด็ก ๆ จะมีประสบการณ์ด้านพหุภาษาของตนเองในเชิงบวก เป็นคำกล่าวของศาสตราจารย์ อิงเงลอเรอ โอเมน-เวลเคอ แต่จะให้เป็นอย่างนั้นได้ ก็มีปัจจัยหลายอย่าง

อาจารย์โอเมน-เวลเคอ คุณได้ทำงานเกี่ยวกับพหุภาษาในเด็กมาเป็นเวลากว่าสิบปี เพราะเหตุใดเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคุณ

ภาษาคือเครื่องมือสื่อสารให้เกิดความเข้าใจของคนเรา ที่นี่มีภาษาราชการคือภาษาเยอรมัน แต่นอกจากนี้ ทั้งในปัจจุบันและในอดีต ก็มีการพูดภาษาและสำเนียงท้องถิ่นอื่น ๆ ด้วย จากการสอบถามเด็ก ๆ พบว่า ในประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นหลัก พหุภาษาแพร่หลายมากในปัจจุบัน ในเวียนนา เด็ก ๆ ประมาณร้อยละ 50 ได้ให้ข้อมูลว่า พวกเขาพูดภาษามากกว่าหนึ่งภาษาในชีวิตประจำวัน ในฮัมบวร์ก เอสเซน และไฟร์บวร์ก เด็กแบบนี้มีประมาณ 35-40 % พหุภาษาคือเรื่องปกติในหลาย ๆ ประเทศในโลก บ่อยครั้งที่พ่อแม่ ผู้ดูแลหรือครูผู้สอนให้ความช่วยเหลือเด็ก ๆ ในด้านการเสริมสร้างภาษาด้วย เพราะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตและการทำงาน

เด็กๆ สามารถเรียนรู้ที่จะเติบโตไปพร้อมกับภาษาใหม่ได้

เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงที่คุณได้พูดคุยด้วย มีความรู้สึกอย่างไรกับพหุภาษา

การสำรวจของเราแสดงผลว่า เด็กทวิภาษาหรือพหุภาษา ที่ไม่ได้เติบโตขึ้นมากับภาษาเพียงภาษาเดียวตั้งแต่แรก มองว่าความสามารถในหลายภาษาของตนคือสิ่งที่เป็นปกติธรรมดามาก ๆ โดยมีปัจจัยสำคัญคือสิ่งแวดล้อมรอบตัวซึ่งทำให้ใช้ชีวิตแบบพหุภาษาได้ เมื่อเด็กในเยอรมนีเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ไม่พูดภาษาเยอรมันกัน และเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับภาษาเยอรมันเมื่อเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาล อาจทำให้เด็กเกิดความสับสนได้ เด็ก ๆ เหล่านี้ต้องการทำความรู้จักภาษาเยอรมันโดยมีผู้ใหญ่ช่วยนำทางอย่างค่อยเป็นค่อยไป บางครั้งเด็กเล็ก ๆ จึงจะไม่พูดเลยในตอนแรก ไม่ว่าจะเป็นภาษาแม่หรือภาษาเยอรมัน แต่หลังจากนั้นไม่นาน พวกเขาก็ตอบคำถามเป็นภาษาเยอรมัน เมื่อครูพี่เลี้ยงทักทายเช่นว่า "Guten Morgen อาอิชา" และเมื่อครูผู้สอนและเด็ก ๆ คนอื่น ๆ พูดกับเด็กเหล่านี้มากขึ้น พวกเขาก็จะได้เติบโตไปพร้อมกับภาษาใหม่ เรื่องที่ว่านี้ เด็ก ๆ เล่าให้ฟังเราฟังเอง ตัวอย่างเช่น "หนูพูดภาษาบอสนิชได้ตั้งแต่เกิด ส่วนเยอรมัน ตอนแรก ๆ ก็ไม่เข้าใจเลย แต่ก็มีคนพูดกับหนูเยอะ ๆ แล้วหนูก็เลยได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน วันละสามคำบ้าง ห้าคำบ้าง" สิ่งสำคัญก็คือว่า ภาษาเยอรมันไม่ได้เข้ามาแทนที่ภาษาแรกของเด็ก ๆ หากแต่ช่วยให้เด็ก ๆ มีพัฒนาการไปด้วยและสองภาษาก็สนับสนุนกัน

ฟาริดา อิสมาอิลและชิอารา เล่าเรื่องพหุภาษาของตัวเองให้ฟัง ฟาริดา อิสมาอิลและชิอารา เล่าเรื่องพหุภาษาของตัวเองให้ฟัง | ภาพ (บางส่วน): © Janna Degener


แต่บางครั้งเด็กทวิภาษาในโรงเรียนอนุบาลและประถมก็เลือกที่จะหลีกเลี่ยงภาษาแรกของตัวเอง

มีเกิดขึ้นได้ เพราะเด็ก ๆ มักจะพยายามปรับตัว เช่น ปรับตัวเข้ากับกลุ่มเพื่อน พวกเขาอยากจะมีความรู้สึกร่วมในกลุ่ม ไม่อยากให้ตนเองแตกต่าง บางครั้งเด็ก ๆ ก็เกิดความขัดแย้งในใจ ว่าจะให้คนอื่นรู้ภาษาดั้งเดิมของตนได้หรือไม่ บางคนก็พยายามปิดบังภาษาของตัวเอง และพูดกับแม่ทำนองว่า "แม่พูดภาษาเยอรมันกับหนูเถอะ เวลามีคนอื่นอยู่ด้วย" หากเด็ก ๆ รับรู้ว่า ภาษาของตนไม่ได้รับการยอมรับในโรงเรียนอนุบาลหรือประถม ก็อาจเกิดเป็นปัญหาสำหรับพวกเขาได้ ปัญหานี้เรียกว่า "ความขัดแย้งทวิภาษา" ในทางกลับกัน ก็มีเด็กอีกหลายคนที่ภูมิใจ เวลาที่พวกเขาแสดงความสามารถต่อเพื่อน ๆ หรือต่อผู้ใหญ่ ว่าพวกเขาพูดได้มากกว่าหนึ่ง หรือบางทีก็สามารถแปลภาษาได้ทีเดียว มันคือความพิเศษ เมื่อมองย้อนกลับไป เยาวชนและผู้ใหญ่หลาย ๆ คนก็ย้ำว่า ความสามารถสองภาษาของพวกเขาเคยได้รับการยอมรับและชื่นชมจากสังคมแวดล้อม แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่หลาย ๆ คนก็มีประสบการณ์ตรงข้าม

ความคิดแง่บวกที่มีต่อพหุภาษา

ความเปลี่ยนแปลงของสังคมสะท้อนให้เห็นความคิดต่อพหุภาษาและการประเมินคุณค่าพหุภาษาหรือไม่

ใช่ แต่มันก็มีข้อแตกต่างอยู่ สำหรับความคิดเชิงบวกที่มีต่อพหุภาษานั้น จะเห็นได้จากการที่โรงเรียนจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ และจากการที่กลุ่มที่รับการสนับสนุนทางการเมืองจัดกิจกรรมนานาชาติขึ้น สภายุโรปและสหภาพยุโรปตั้งให้พหุภาษาเป็นจุดมุ่งหมายร่วมกัน โดยมีโครงการแลกเปลี่ยนสำหรับนักศึกษาวิชาชีพ นักศึกษา และผู้ที่ประกอบอาชีพ รวมทั้งครอบครัวและคู่สมรสระหว่างชาติอีกนับไม่ถ้วน ผู้คนมากมายมีปฎิสัมพันธ์กับคนต่างภาษาและกับตัวภาษาอื่น ๆ เอง สิ่งเหล่านี้มักส่งผลให้เกิดทัศนคติเชิงบวก แต่บางครั้งก็มีประสบการณ์ที่ไม่ดีนักเกิดขึ้น และนั่นก็ทำให้เกิดการเหมารวมและนำไปสู่การไม่ยอมรับได้

ผู้ใหญ่จะสนับสนุนเด็กทวิภาษาได้อย่างไร

สิ่งที่สำคัญก็คือ การที่ผู้ใหญ่ได้ให้ทางเลือกด้านภาษาที่มากมายหลากหลาย ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันที่บ้านหรือในโรงเรียนอนุบาล ซึ่งผู้ใหญ่สามารถทำได้โดยช่วยเด็กทำกิจกรรมนั้น ๆ เช่น "ดูสิ ฉันมีอะไรบ้างนี่ แอปเปิ้ล และมีด และจาน ฉันจะผ่าลูกแอปเปิ้ลนะ แล้วก็ได้แอปเปิ้ลครึ่งลูกนี่ไง...” แบบนี้สามารถทำได้ทั้งกับเด็กที่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาแรกและภาษาที่สอง เด็ก ๆ จะค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะพูดด้วย เริ่มแรกของการสอนให้เรียนรู้ภาษามักจะมีการเล่นด้วยนิ้วมือ เพลง และบทกลอนสั้น ๆ ร่วมกับการเคลื่อนไหวร่างกาย ที่ทำซ้ำ ๆ กันหลายรอบ เด็ก ๆ จะสังเกต ทำตามและเรียนรู้รูปแบบภาษาเป็นประจำสม่ำเสมอ ขณะที่ร่วมกิจกรรมเด็ก ๆ จะรู้สึกว่าได้รับการยอมรับและต้อนรับ เด็ก ๆ จะได้เปิดโลกด้วยภาษาตั้งแต่ระดับอนุบาลและต่อเนื่องไปจนเมื่ออยู่ในโรงเรียน กระบวนการนี้ควรเกิดขึ้นอย่างอ่อนโยนและทำให้เข้าใจได้ง่าย เพื่อประโยชน์ของเด็ก ๆ

Ingelore Oomen-Welke Foto (recorte): © privat อิงเงอลอเรอ โอเมน- เวลเคอ ก่อนเกษียณในปี 2008 เคยเป็นศาสตราจารย์ด้านภาษาเยอรมันและการสอนภาษาในสถาบันภาษาและวรรณคดีเยอรมันแห่งวิทยาลัยครูไฟร์บวก ขณะทำงานได้ทำการวิจัยและตีพิมพ์งานวิจัยหัวข้อเกี่ยวกับพหุภาษาในเด็ก