การประเมินผลด้วยตัวเองในการเรียนการสอน
ฉันจะไปให้ถึงจุดหมายของฉันให้ได้!

ตกลงฉันอ่านเข้าใจรึเปล่า
ตกลงฉันอ่านเข้าใจรึเปล่า | Foto: © Hast du den Flow? - photocase.de

เราสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของตัวเองได้ด้วยการประเมินผลด้วยตัวเอง ซึ่งช่วยให้เราสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้มากขึ้น แต่การประเมินผลด้วยตัวเองนั้นสามารถทำได้อย่างไร มีรูปแบบไหนบ้าง และมีผลต่อบทบาทของผู้สอนอย่างไร

 

การที่ผู้เรียนทำการประเมินผลตัวเองนั้นเท่ากับว่าผู้เรียนได้ช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ที่สำคัญหน้าที่หนึ่งของครูผู้สอน แต่โดยปรกติแล้วผู้เรียนมักจะต้องการให้ผู้สอนตรวจแก้ข้อผิดและให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลการเรียนรู้ของตนด้วย โดยการเรียนรู้ไม่ใช่กระบวนการที่ผู้เรียนจะเป็นฝ่ายรับอย่างเดียวที่ผู้เรียนจะเรียนแค่สิ่งที่ผู้สอนเขียนหรืออธิบายบนกระดานดำเพียงเท่านั้น หากแต่ตัวผู้เรียนเองยังต้องพยายามเข้าใจและปรับใช้องค์ความรู้เหล่านั้นด้วยตัวเองให้ได้ ด้วยเหตุนี้ผู้เรียนทุกคนจึงควรที่จะสามารถกำหนดแนวทางการเรียนรู้ของตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในห้องเรียนหรือไม่ก็ตาม โดยผู้เรียนต้องรู้เองว่าพวกเขาได้บรรลุเป้าหมายทางการเรียนของเขาแล้วหรือไม่ ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวอาจมาจากการตั้งเป้าหมายของตัวผู้เรียนเองหรือมาจากปัจจัยภายนอกก็ได้ เช่น การทำแบบฝึกหัดได้ การเรียนจบคอร์ส หรือการสอบผ่าน

เกณฑ์ประเมินที่ชัดเจนมีส่วนช่วยในการประเมินผลตัวเอง
 

การประเมินผลด้วยตัวเองถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถทำความรู้จักกับจุดแข็งและจุดอ่อน รวมถึงการปรับพฤติกรรมการเรียนให้เข้ากับจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองได้ ยกตัวอย่างเช่น การบันทึกสิ่งผู้เรียนเข้าใจออกมาเป็นตารางเหมือนเช็คลิสต์แบบ European Language Portfolio  ซึ่งทำให้ผู้เรียนสามารถประเมินระดับภาษาได้ด้วยตัวเองและรับทราบถึงสิ่งที่ผู้เรียนควรจะแก้ไขหรือยังสามารถพัฒนาต่อไปได้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้เรียนคนหนึ่งอาจรับรู้ว่าทักษะการอ่านของตนสูงกว่าทักษะอื่นๆ ทางภาษา

การทำเช็คลิสต์ประเมินความสามารถเป็นกิจกรรมที่เป็นที่รู้จักในการเรียนการสอนภาษา โดยกลุ่มผู้สอนภาษาหลายกลุ่มก็ได้นำรูปแบบการประเมินผลดังกล่าวมาปรับใช้ในช่วงท้ายของบทเรียนเพื่อประเมินผลว่าผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาของบทเรียนนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน โดยผู้เรียนจะสามารถเลือก ขีดช่องทักษะที่ตัวเองเข้าใจ ช่องที่ตัวเองต้องการเรียนรู้เพิ่มหรือช่องที่ตัวเองต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมได้

นอกจากนี้ เรายังสามารถสร้างเกณฑ์การประเมินผลสำหรับแบบฝึกหัดอื่นๆ ได้ด้วยเช่น การนำเสนอผลงาน การเขียนแผ่นพับหรือการเขียนเรียงความ เป็นต้น โดยเกณฑ์ดังกล่าวจะมีประโยชน์กับตัวผู้เรียนอย่างชัดเจนและให้ผู้เรียนเห็นผลถึงสองทางด้วยกัน โดยเฉพาะการเตรียมตัวทำข้อสอบ ยกตัวอย่างเช่น หากผู้เรียนได้ทำการประเมินผลตามเกณฑ์ในแบบฝึกหัดการเขียนมาแล้ว ผู้เรียนก็จะรับทราบจุดด้อยของตัวเองและสามารถฝึกเขียนตามจุดที่ตัวเองยังไม่ถนัดได้ การคำนึงถึงจุดด้อยของตัวเองดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในระหว่างการทำข้อสอบที่ผู้สอนไม่สามารถเข้าไปช่วยผู้เรียนได้อีกด้วย โดยเกณฑ์ดังกล่าวจะเปรียบเสมือนตัวควบคุมให้ผู้เรียนระวังจุดด้อยหรือข้อผิดพลาดที่ตัวเองมักทำในข้อสอบได้

แต่ผู้เรียนก็มักจะต้องการคำอธิบายเพิ่มเกี่ยวกับเกณฑ์การประเมินผล ซึ่งผู้สอนจะเป็นผู้มีหน้าที่ในการอธิบายเกณฑ์ดังกล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วยการยกตัวอย่างประโยค การใช้ตัวอย่างบทความ หรือตัวอย่างการแก้ปัญหาในแบบทดสอบ เพื่อให้ผู้เรียนรับทราบถึงจุดด้อยที่ตัวเองยังต้องพัฒนา และสามารถประเมินผลตัวเองได้แม่นยำและมีประสิทธิภาพได้มากขึ้นด้วย


อย่างไรก็ตาม การที่ผู้เรียนทำการประเมินผลด้วยตัวเองผ่านเกณฑ์ที่ระบุไว้แล้วอาจไม่ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของตัวเองได้อย่างเต็มที่เพราะเกณฑ์ดังกล่าวอาจไม่รวมถึงจุดที่มีความสำคัญต่อผู้เรียนเป็นรายบุคคล ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่ผู้เรียนจะสามารถตั้งเกณฑ์ การประเมินให้กับตัวเองได้นั้น ผู้เรียนต้องทราบว่าผู้เรียนสามารถประเมินจุดไหน อย่างไร นักวิจัยด้านภาษาศาสตร์ คุณ Karin Kleppin จึงแนะนำ การประเมินผลด้วยตัวเองในระดับย่อย ซึ่งเป็นเหมือนแบบฝึกหัดย่อยสำหรับผู้เรียนก่อน โดยผู้เรียนจะได้รับเกณฑ์ประเมินผลกลุ่มหนึ่งสำหรับแบบฝึกหัดหนึ่ง ในขั้นแรกผู้เรียนแต่ละคนจะต้องขีดตามช่องเกณฑ์ที่ผู้เรียนคิดว่าเขาสามารถประเมินเกณฑ์นั้นๆ ด้วยตนเองได้ หลังจากนั้นผู้ทำแบบประเมินช่วงแรกจะมารวมตัวกันเพื่อคุยกันเป็นกลุ่มว่าเกณฑ์ไหนสามารถประเมินได้ และหากประเมินได้เราสามารถประเมินได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น “ฉันได้ตรวจแก้คำที่ฉันเขียนผิดบ่อยๆ หลังจากทำแบบฝึกหัดเสร็จ” เป็นเกณฑ์ที่ประเมินได้ง่ายกว่า “ฉันไม่ได้เขียนคำผิดเลย” โดยเกณฑ์แรกเป็นเกณฑ์ที่ช่วยแนะนำการพัฒนากระบวนเรียนรู้ อีกทั้งยังคำนึงข้อผิดพลาดของผู้เรียนเป็นรายบุคคลด้วย
วิธีที่เป็นที่นิยมในการประเมินผลตนเอง วิธีที่เป็นที่นิยมในการประเมินผลตนเอง | © Goethe-Institut

การทำให้การพัฒนาทักษะของเห็นผลชัดเจนมากขึ้น
 

นอกจากนี้ การทำให้ผู้เรียนตระหนักถึงพัฒนาการของตัวเองก็เป็นอีกหนึ่งจุดประสงค์หลักของการประเมินผลด้วยตัวเองอีกด้วย การตระหนักดังกล่าวจะเป็นเหมือนแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ผู้เรียนแต่ละคนมีความสามารถในระดับที่แตกต่างกันมาก โดยการประเมินผลด้วยตัวเองก็มีประโยชน์สำหรับผู้เรียนภาษาในระดับสูงเช่นกัน เพราะผู้เรียนกลุ่มนี้มักจะไม่ค่อยสังเกตการพัฒนาการทางด้านภาษาของตน การประเมินผลสามารถทำได้ด้วยกิจกรรมต่างๆต่อไปนี้
  • การให้ผู้เรียนเขียนเรียงความสั้นๆ ในเวลาไม่กี่นาทีในหัวข้อที่คุ้นเคยอย่างสม่ำเสมอ โดยผู้เรียนแต่ละคนจะต้องนับจำนวนคำที่เขียนหลังจากเขียนเสร็จและรวบรวมจำนวนดังกล่าวมาทำเป็นกราฟแบบง่ายๆ หลังจากทำแบบฝึกหัดนี้เป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ผู้เรียนจะสังเกตเห็นได้ชัดว่าเขียนได้ลื่นไหลและใช้คำศัพท์ในการเขียนได้มากขึ้น ผู้สอนสามารถใช้วิธีประเมินผลอื่นๆ มาประกอบได้ด้วยเพื่อวัดระดับการพัฒนาการเขียนในด้านอื่นๆ เช่น การใช้คำและประโยคที่เข้าใจง่ายและถูกต้อง
  • การให้ผู้เรียนทำแบบฝึกหัดที่ใช้เวลานานอีกหนึ่งรอบ หลังจากนั้นให้ผู้เรียนแต่ละคนนำผลลัพธ์ของแบบฝึกหัดทั้ง สองรอบมาเทียบเคียงกันและจดบันทึกจุดที่ผู้เรียนทำได้ดีกว่าการทำแบบฝึกหัดรอบแรก
  • การให้ผู้เรียนรวบรวมสื่อประกอบการเรียนต่างๆ ที่ใช้ในห้องเรียนเช่น อีเมล์ บทสรุปเนื้อหา ตัวอย่างบทสนทนาหรือไฟล์เสียงที่ใช้ฝึกฟัง และนำเอกสารเหล่านี้มาเรียงต่อๆ กันให้เป็นเหมือนกระบวนการเรียนรู้ของตัวเองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

การประเมินผลด้วยตัวเองมีผลต่อการเรียนการสอนโดยรวมด้วย
 

หลังจากที่ผู้เรียนทำการประเมินผลด้วยตัวเองเสร็จและทราบถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตัวผู้เรียนมักจะต้องการปฏิกิริยาตอบรับจากตัวผู้สอน ซึ่งผู้สอนก็อาจจะให้คำแนะนำเป็นตัวบุคคลหรือเสนอกิจกรรมและแบบฝึกหัดในการแก้ไขจุดอ่อนดังกล่าว ในปัจจุบันมีการนำแนวการสอนที่ชื่อว่า Fide ที่เน้นการจำลองสถานการณ์มาใช้ในการสอนภาษาต่างประเทศตั้งแต่ระดับเริ่มต้นถึงระดับกลาง (B1) โดยเราได้ค้นพบว่าการใช้สื่อการสอนที่หลากหลายและการประเมินผลด้วยตัวเองของผู้เรียนสามารถช่วยพัฒนาและแก้ไขจุดอ่อนของผู้เรียนแต่ละคนได้

การที่ผู้เรียนเข้าใจถึงเกณฑ์การประเมินผลสำหรับการประเมินตนเองยังทำให้กระบวนการประเมินผลการเรียนการสอนทั้งหมดมีความโปร่งใสมากขึ้น เพราะผู้เรียนจะสามารถเข้าใจการประเมินผลของผู้สอนได้เช่นกัน โดยการแบ่งจำแนกเกณฑ์ประเมินผลเป็นเกณฑ์ย่อยๆ จะช่วยเพิ่มแรงบันดาลใจในการเรียนและยังช่วยให้ผู้เรียนสามารถวางแผนการเรียนของตนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของตนได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ การประเมินผลด้วยตัวเองยังเปรียบเสมือนการเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้เพิ่มเติมหลังเรียนจบและการแสวงหาความรู้และประสบการณ์อย่างต่อเนื่องต่อไป เพราะผู้เรียนจะสามารถเลือกเกณฑ์และวิธีที่เหมาะสมในการประเมินการพัฒนาการของตนเองและเอาผลลัพธ์มาปรับใช้กับพฤติกรรมการเรียนรู้ของตนเองได้

อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรนำการประเมินผลด้วยตัวเองของผู้เรียนมาแทนที่การประเมินผลจากตัวผู้สอนหรือการสอบทั่วไปเลยสักทีเดียว แต่ควรนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอน ยกตัวอย่างเช่น การสอบวัดระดับทางภาษาที่ชื่อ Dialang ซึ่งเป็นการรวมตัวกันระหว่างการประเมินผลด้วยตัวเองกับคำถามในข้อสอบแบบทั่วไป และผู้สอบจะได้รับคำแนะนำจากตัวผู้สอนพร้อมกับผลสอบเป็นตัวรับรองความสามารถของตนเองอีกด้วย ผลลัพธ์ที่ได้คือการมีส่วนร่วมระหว่างผู้สอนและผู้เรียนในการพัฒนาการเรียนรู้และขีดความสามารถของผู้เรียน โดยทั้งสองฝ่ายจะสามารถกำหนดและตกลงวัตถุประสงค์และแนวทางการเรียนรู้ร่วมกันได้