การเรียนจะเปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย

ในอนาคต เราจะยังเรียนภาษาต่างประเทศกันอยู่อีกหรือไม่ หรือเราจะมีโปรแกรมที่สามารถช่วยแปลภาษาได้ทันที การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะเปลี่ยนโฉมหน้าการเรียนรู้ได้อย่างไร ในบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ เพเทอร์ วิพเพอร์มันน์ (Peter Wippermann) นักวิจัยด้านแนวโน้วจะมาพูดคุยถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของการเรียน (ภาษาต่างประเทศ) ในอนาคต

คุณเรียนภาษาต่างประเทศครั้งแรกเมื่อไหร่คะ คุณวิพเพอร์มันน์

ผมเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนครับ การเรียนการสอนค่อนข้างเป็นแบบดั้งเดิม คือเรียนคำศัพท์ แปลตัวบท แล้วก็ตอบคำถามในห้องเรียนเป็นภาษาอังกฤษ ผมว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากที่ทุกวันนี้โรงเรียนในเยอรมนียังไม่มีความคืบหน้าไปมากเท่าใดนักในเรื่องการเรียนการสอน

คุณบอกว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ทุกวันนี้เรายังคงใช้แค่ปากกากับสมุดในการเรียนภาษาเป็นหลักอยู่ คุณเห็นว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยด้านการสอนภาษาได้อย่างไรบ้างคะ

ในโลกดิจิทัล เทคโนโลยีการจำแนกเสียงพูดที่อยู่ในสมาร์ทโฟนอย่าง Alexa หรือ Google มักถูกมองข้ามไป แต่เทคโนโลยีนี้เองที่จะสามารถเปลี่ยนโฉมหน้าการเรียนภาษาของเราได้ ความสำคัญของการเขียนจะลดลง ในขณะที่การแปลอัตโนมัติจะแพร่หลายมากขึ้น ทว่าโรงเรียนในเยอรมนียังไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเลย

การเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน

ในอนาคตจะมีโปรแกรมที่สามารถช่วยให้เราเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศได้จากหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่บ้านหรือไม่

ในปัจจุบันมีการทดลองในด้านของเสียงมากแล้ว คือให้คนเรียนภาษาต่างประเทศได้ผ่านการฟังเชิงโต้ตอบ แม้ว่าทักษะการเขียนจะยังไม่ดีก็ตาม นี่ยังคงเป็นแค่จุดเริ่มต้น การนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการเรียนภาษายังคงอยู่ในขั้นทดลอง ความเป็นไปได้ใหม่ๆ จะเกิดขึ้นเมื่อโปรแกรมสามารถเชื่อมโยงจินตภาพเข้ากับตัวอย่างของตัวบทฟัง การใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือนก็เป็นความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเรียนภาษาราวกับอยู่ในประเทศเจ้าของภาษาจริงๆ

โปรแกรมแบบนี้มีใช้แล้วหรือไม่

แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศมากนัก แต่ก็มีใช้กันมากแล้วในวงการเกม และมีความพยายามในการนำเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือนมาใช้กับสมาร์ทโฟนได้ราวๆ สองปีแล้ว กระนั้นเทคโนโลยีนี้ก็ยังคงมีต้นทุนที่สูงอยู่ แต่ผมมั่นใจเลยว่าโลกแห่งเทคโนโลยีจะมาแทนที่โลกอนาล็อกในหลายๆ ด้านอย่างแน่นอน

ในที่นี้คุณหมายถึงผู้สอนแบบดิจิทัลด้วยไหม

ในญี่ปุ่นเริ่มมีการนำครูหุ่นยนต์มาใช้ในชั้นเรียนกันแล้ว ทว่าในเยอรมนีเองยังมีความกังวลกับการใช้หุ่นยนต์อยู่มากและไม่มีการสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อนำหุ่นยนต์มาทดลองใช้อีกด้วย แต่เราต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าปัญญาประดิษฐ์นั้นถึงแม้จะยังอยู่ในขั้นทดลอง แต่ในอนาคตมันจะก้าวเข้ามามีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเราอย่างแน่นอน สถาบันวิจัยของกองทัพอเมริกันได้ประเมินว่าเทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวเตอร์จะพร้อมใช้งานภายในปี 2025 โดยควอนตัมคอมพิวเตอร์นี้จะประมวลผลได้ไวกว่าคอมพิวเตอร์ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันกว่าหนึ่งร้อยล้านเท่าเลยทีเดียว เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่อนาคตที่แตกต่างไปอย่างสุดขั้ว แต่ก็เป็นอนาคตที่จะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ ในหลายด้าน

“ชีวิตของเราจะเปลี่ยนไป”

ที่กล่าวมานี้จะส่งผลอย่างไรต่อการเรียนรู้ในอนาคตบ้าง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเรียนในยุโรปของเรามีความคืบหน้าไปมาก ส่วนในเยอรมนีเองการเปลี่ยนระบบวุฒิการศึกษามาเป็นปริญญาตรีและโทตามแบบสากลก็ทำให้เกิดระบบการศึกษาที่ออกแบบมาเพื่อรองรับกับตลาดแรงงานในระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของการวางมาตรฐาน ความรวดเร็วและการเพิ่มประสิทธิภาพ แต่ในอนาคตเครื่องจักรจะทำงานได้ดีกว่าแรงงานที่ผ่านระบบการศึกษาแบบนี้มา แจ็ค หม่า (Jack Ma) ผู้ก่อตั้ง Alibaba กล่าวไว้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องมีความคิดสร้างสรรค์ แต่เราไม่เคยเรียนรู้เรื่องความคิดสร้างสรรค์เลย

เราจะสอนเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยได้อย่างไร

ผมไม่ได้จะพูดว่าผมมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในด้านนี้ แต่ว่าจุดประสงค์การเรียนรู้ในปัจจุบันจะไม่สำคัญอีกต่อไป เราจะพบเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการใช้ภาษาได้ทุกที่ภายในสิบปีข้างหน้า คำถามที่ตามมาก็คือ เราจะยังคงต้องการข้อมูลที่อยู่ในแบบลายลักษณ์อักษรอยู่อีกหรือไม่ โอกาสความเป็นไปได้ที่เราจะไม่จำเป็นต้องเขียนอะไรเลยในชีวิตประจำวัน แต่หันมาพูดคุยกับเครื่องจักรแทนนั้นมีสูงมาก

แต่ดิฉันก็ยังรู้สึกยินดีเวลาที่ได้อ่านข้อมูลอะไรที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันหรือว่าสายอาชีพของฉันอยู่ดี

นั่นเพราะคุณโตมากับยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้ ในเยอรมนี คนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 25 ปีจำนวนกว่าร้อยละ 47 ชอบที่จะพบปะกับในโลกออนไลน์มากกว่าเจอกันในชีวิตจริง คนยิ่งอายุน้อยเท่าไรก็ยิ่งปรับตัวรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้นเท่านั้น วิดีโอสดมาแทนที่โปสการ์ดหรือว่าจดหมายนานแล้ว ทว่าในด้านการศึกษานั้น เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทน้อยมากทีเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเห็นว่าควรมีการเปลี่ยนแปลง

ในอนาคตคนเรายังจำเป็นต้องเรียนภาษาต่างประเทศอยู่อีกหรือไม่ ในเมื่อเป็นไปได้ว่าอาจจะมีโปรแกรมสื่อสารภาษาต่างประเทศแทนมนุษย์ออกมา

โปรแกรมช่วยเหลือด้านภาษาต่างประเทศอาจจะทำได้หลายอย่างก็จริง แต่อย่างไรก็ดี เรายังคงต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะเทคโนโลยีไม่สามารถมาแทนที่ความใกล้ชิดกันของมนุษย์ได้ และด้วยเหตุนี้เอง เรายังคงจำเป็นต้องเรียนภาษาต่างประเทศต่อไปในอนาคต ผมเองนึกภาพอนาคตเอาไว้ว่าเราจะติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงกันผ่านทางโลกดิจิทัลจนถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่การพูดคุยและเข้าใจกันในชีวิตจริงก็จะยังคงความสำคัญต่อไป
 

แนวโน้มสู่การแบ่งแยกและปกครองตนเอง

คุณมองว่าการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากๆ ในโลกดิจิทัลเป็นปัญหาหรือไม่

ผมมองตามความเป็นจริงครับ คือเมื่อคุณใช้ข้อมูล คุณก็ผลิตข้อมูลด้วยเช่นกัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ แต่ไม่ได้ถูกเก็บไว้เพียงแค่ในประเทศของตนเองเท่านั้น เมื่อใดก็ตามที่คุณตกลงยอมรับเงื่อนไขการใช้งานของ Google ทาง Google ก็จะเป็นฝ่ายตัดสินใจว่าข้อมูลนี้จะถูกส่งไปที่ไหน ซึ่งไม่ใช่เยอรมนีหรือสหภาพยุโรป คนทั่วไปยังคงมีความเข้าใจผิดในเรื่องนี้อยู่มาก

ปัจจุบันความต้องการปกครองตนเองเพิ่มขึ้นสูงมากในหลายๆ ประเทศ ในเยอรมนีเองก็มีคนกลับมาใช้คำว่า Heimat หรือว่า “บ้านเกิด” กันอีกครั้ง คุณจะอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร

คือแนวโน้มที่เกิดขึ้นและทำให้หลายคนไม่สบายใจ อุดมคติแห่งโลกาภิวัตน์กลับทำให้เกิดแนวโน้มที่หันกลับไปสู่การโดดเดี่ยวชาติของตน ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในสหรัฐฯ ตุรกี ฮังการี โปแลนด์ หรือเดนมาร์กเพียงเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในเยอรมนีด้วย ผู้คนต่างตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วเราคือใครกันแน่ ภาษาจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในการกำหนดอัตลักษณ์ของผู้คน คนเราจึงพยายามจำกัดวงตัวเองเพื่อลดความสลับซับซ้อนในโลกที่เล็กลง ผมคิดว่าผู้คนพยายามทำให้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกเทคโนโลยีและโครงสร้างทางอำนาจนั้นช้าลง แต่ว่าสุดท้ายแล้วมันจะนำพาเราไปในทิศทางใด ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไป

 
Peter Wippermann Foto: © ProSiebenSat1 Peter Wippermann เป็นอาจารย์ด้านการออกแบบการสื่อสารประจำมหาวิทยาลัยศิลปะ Folkwang เมืองเอสเซน จนถึงปี 2015 และเป็นผู้ก่อตั้ง Trendbüro เอเจนซีวิจัยด้านแนวโน้มซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่เมืองฮัมบวร์กและมิวนิค ทุกๆ 2 ปีเขาร่วมกับ Jens Krüger ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยตลาด Kantar TNS ออก Werte-Index ดัชนีประเมินคุณค่าเยอรมัน ในการออกดัชนีนี้นักวิจัยจะศึกษาการถกเถียงเรื่องคุณค่าจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งในบล็อก สังคมออนไลน์หรือฟอรัมต่างๆ สำหรับดัชนีประจำปี 2018 นั้น มีการนำรูปภาพใน Instagram มาประเมินด้วยเป็นครั้งแรก ผลการวิจัยล่าสุดแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตให้ความสำคัญกับคุณค่าดั้งเดิมมากขึ้น การประสบความสำเร็จมีความสำคัญลดลง ในขณะที่ธรรมชาติมาเป็นอันดับหนึ่งเป็นครั้งแรก ตามมาด้วยสุขภาพและครอบครัว