จากการทดลองปฏิบัติสู่การปฏิบัติใช้งานจริง/ สื่อการเรียนรู้เสริมตำราเรียน
มีทุกอย่างในกล่องเดียว! การใช้งานที่หลากหลายของบัตรคําศัพท์

Boxen
© Goethe-Institut Thailand


เขียนโดย เยิร์ก คลินเนอร์ และ มาร์คุส ชติเชล

ที่มา

การเรียนรู้ด้วยดัชนีบัตรเป็นที่รู้จักตั้งแต่ช่วงปี 1970 หลังจากที่ เซบัสเตียน ไลท์เนอร์ (Sebastian Leitner) ได้นำเสนอไอเดียดังกล่าวในงานเขียนหลักของเขาที่ชื่อ การเรียนเรื่องการเรียนรู้ (Lernen lernen) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลากหลายบัตรคำสำหรับการเรียนการสอนก็ได้รับการพัฒนาเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ ตั้งแต่การรวมสูตรทางคณิตศาสตร์ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ไปจนถึงคลังคําศัพท์ที่เป็นประเด็นสำคัญในบทความฉบับนี้ แม้ว่าดัชนีบัตรต่างก็มีการออกแบบที่หลากหลาย แต่คุณสมบัติที่สื่อดังกล่าวทั้งหมดมีร่วมกันคือการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ

หลักการพื้นฐานดังกล่าวถือเป็นตัวจุดประกายตั้งแต่แรกเริ่มให้คุณเยิร์ก คลินเนอร์  ซึ่งมีประสบการณ์การทํางานในบริบทเรื่องโรงเรียนในอิสราเอล ได้ออกแบบกล่องบัตรคำศัพท์ เพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้เสริมที่สร้างความสนุกสนานในการเรียนการสอนภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศ (DaF-Unterricht) อิสราเอลถือเป็นประเทศแห่งสตาร์ทอัพ ที่ผู้คนทั่วไปต่างใช้แอปพลิเคชั่นนับไม่ถ้วนในอุปกรณ์มือถือในชีวิตประจําวัน ดังนั้นจึงอาจเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่หลายคนกลับเลือกที่จะไม่ใช้เครื่องมือดิจิตอลในการเรียนและฝึกคําศัพท์ หากแต่ได้ตัดสินใจเลือกใช้สื่อที่สามารถสัมผัสได้เพื่อการเรียนรู้ที่ใช้ประสาทสัมผัสหลายส่วนของร่างกาย และในขณะเดียวกันก็ช่วยลดความลำบากในการเรียนรู้คำศัพท์ด้วยวิธีแบบเดิมๆ ซึ่งบ่อยครั้งก็เป็นเพียงการกรอกเอาความรู้ใส่หัวแบบท่องจำไปเรื่อยๆ หลังจากที่คุณเยิร์กได้ย้ายมาทํางานที่กรุงเทพแล้ว เขาก็ได้นำไอเดียดังกล่าวติดตัวมา และได้จัดทำสื่อการเรียนรู้แบบกล่องสำหรับบริบทการเรียนการสอนในประเทศไทย 

คำบรรยาย 

แต่ละกล่องบัตรคำศัพท์จะประกอบไปด้วยบัตรคำศัพท์จำนวน 64 ใบ ซึ่งมีโครงสร้างที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถนำบัตรที่เคยเห็นแล้วไปวางไว้ด้านหลัง หรือปล่อยให้อยู่ด้านหน้าตามเดิมโดยจะขึ้นอยู่กับความรู้ของผู้ใช้แต่ละคน โดยในกล่องบัตรคำศัพท์ บัตรแต่ละใบจะสามารถใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง การใช้ภาพถือเป็นองค์ประกอบที่ช่วยสนับสนุนผู้เรียนและให้ผู้เรียนสามารถทำการเชื่อมโยงระหว่างภาพและคำศัพท์ได้ดีขึ้น ผู้เรียนจะไม่เห็นแต่เพียงตัวคําศัพท์ในด้านหลังของบัตรคำศัพท์ หากแต่ยังเห็นถึงข้อมูลทางไวยากรณ์และบริบทการใช้ประโยคที่เกี่ยวข้องกับคำศัพท์ดังกล่าว พร้อมกับคำแปลเป็นภาษาของตัวผู้เรียนเองอีกด้วย การผสมผสานของกราฟิกและภาพบนบัตรคำศัพท์ถือเป็นจุดสำคัญในการออกแบบเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถทำการเชื่อมโยงคำศัพท์ได้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อการเรียนรู้เชิงพูดคุยโต้ตอบกันระหว่างตัวผู้เรียน

เนื่องจากกลุ่มคําศัพท์เกี่ยวกับ อาหารและเครื่องดื่ม (Essen und Trinken) ไม่เพียงแต่จะเป็นส่วนหนึ่งของคําศัพท์พื้นฐาน (ระดับ A1) ของกรอบข้อตกลงอ้างอิงทั่วไปในการเรียนการสอนภาษาเท่านั้น หากแต่ยังเป็นคำศัพท์ที่ผู้เรียนสามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นรูปธรรมในการใช้ชีวิตทั่วไป ทำให้ผู้เรียนสามารถหาคำศัพท์ดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว กล่องบัตรคำศัพท์กล่องที่สอง เป็นสื่อที่ช่วยให้ผู้เรียนได้ศึกษาโครงสร้างทางภาษาที่ซับซ้อนมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่รู้จักและเข้าถึงได้ในชีวิตประจำวันของผู้เรียน และนั้นก็เป็นที่มาของการจัดทำบัตรคำศัพท์ในหัวข้อ กิจกรรมสันทนาการ (Freizeitaktivitäten) ต่อมาก็ได้มีการจัดทำหัวข้อคำศัพท์ใหม่ๆ ขึ้น ได้แก่ หัวข้อ คําขอร้องและการตั้งคำถาม (Bitten & Fragen) และ บัตรคำศัพท์ตามหัวข้ออื่นเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นผลลัพท์ของการสังเกตการณ์ในห้องเรียนและการอบรมรูปแบบการสอบ โดยจะมีความเกี่ยวข้องกับแบบฝึกหัดและแบบทดสอบทางภาษามากขึ้นกว่าเดิม 
 
นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งก็คือว่า กล่องบัตรคำศัพท์ดังกล่าวไม่ได้รวมเพียงแค่คลังคำศัพท์ภาษาเยอรมัน ที่ผู้เรียนควรจะรู้จักในระดับความสามารถทางภาษาขั้นพื้นฐานแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงคําศัพท์จำนวนหนึ่งซึ่งเป็นคําศัพท์ในชีวิตประจําวันตามบริบททางวัฒนธรรมของกลุ่มผู้เรียนด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำศัพท์เช่น น้ำปลา พริก เผ็ดหรือข้าว สําหรับเวอร์ชั่นภาษาไทย และยังมีคำศัพท์คำอื่น เช่น ฟาลาเฟล ฮัมมัส หรือทาฮินีซึ่งเป็นส่วนผสมของการทำอาหารอิสราเอลอีกด้วย และเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับบริบทของกลุ่มประเทศที่พูดภาษาเยอรมันเป็นหลัก กล่องบัตรคำศัพท์ก็ยังมีคำศัพท์เช่น กะหล่ำปลีดอง Sauerkraut หรือเกี๊ยว Knödel โดยคําศัพท์ดังกล่าวในช่วงท้าย จะเป็นสื่อเชิญชวนใหผู้เรียนได้เข้าไปสัมผัสและเข้าใจความหลากหลายของภาษาเยอรมันได้อีกด้วย

วัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ครอบคลุม

ตามที่ได้กล่าวถึงในจุดอื่นๆ ของบทความแล้ว การจัดทำสื่อการเรียนรู้ที่ไม่ใช้สื่อดิจิตอลอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก สื่อการเรียนรู้ดังกล่าวจะต้องสามารถใช้งานได้ง่าย สามารถหยิบจับขึ้นมาใช้ได้ตลอดเวลา และส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถใช้สื่อในรูปแบบการสื่อสารที่หลากหลายในแบบต่างๆ ถึงแม้ว่าความตั้งใจพื้นฐานของการทำดัชนีบัตรจะเป็นการเรียนรู้อย่างเป็นระบบก็ตาม ในขณะเดียวกันเรายังสามารถใช้สื่อฝึกสอนคําศัพท์ในการทบทวนศัพท์อย่างมีประสิทธิภาพ และตรวจสอบการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยตัวเอง โดยนักเรียนจะมีความรับผิดชอบต่อกระบวนการเรียนรู้และการทำงานของตัวเองผ่านโจทย์แบบฝึกหัดในรูปแบบเปิดที่ตัวเองได้รับ โดยรูปแบบการนำเสนอคำศัพท์จะช่วยเป็นแรงจูงใจให้แก่ผู้เรียนไปในเวลาเดียวกัน การใช้บัตรคำศัพท์ที่มีคำศัพท์และภาพตามลำดับที่มีผู้ผลิตขึ้นมาล่วงหน้าแล้วอาจจะทำให้ผู้เรียนไม่สามารถลองผิดลองถูกได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้เรียนไม่สามารถทดลองผิดถูกได้เลยทีเดียว เพราะการที่ผู้เรียนสามารถทำบัตรคำศัพท์เปล่าๆ ขึ้นมาได้เองในทุกขณะ ก็จะช่วยเสริมสร้างการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนได้เช่นกัน

เป้าหมายอื่นๆ

การทำงานกับกลุ่มเยาวชนเป็นการทำงานที่การให้อิสระแก่ผู้เรียนและผู้สอนถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง เพื่อให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จและช่วยผลักดันการเรียนรู้ของตัวผู้เรียน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการทํางานร่วมกับครูในประเทศไทยได้แสดงให้เห็นว่า ครูหลายคนได้รับคำแนะนำที่ชัดเจนในการอบรมครูสำหรับการเรียนการสอนเนื้อหาในแต่ละบท เช่น "แอพนี้สามารถใช้ได้ดีในบทเรียนที่ 4 ตั้งแต่ย่อหน้าที่ 5 ในการเรียนการสอนในห้องเรียน" อย่างไรก็ตาม คําแนะนําที่ชัดเจนดังกล่าวก็ถือเป็นข้อจํากัดในตัวของมันเองต่อการให้อิสระในการสอนที่ผู้สอนหลายคนอาจจะยังไม่เห็นถึงความสำคัญเท่าไหร่นัก ด้วยเหตุนี้ ผู้สอนจึงสามารถใช้บัตรคำศัพท์ในการสอนในสองกรณีต่อไปนี้ได้

ก) การพัฒนาหลากหลายเทคนิกการใช้บัตรคำศัพท์ที่มีอยู่แล้วตามความต้องการของผู้สอน
ข) การใช้พื้นที่ในการออกแบบและการใช้งานที่สร้างสรรค์สําหรับผู้สอนคนอื่นๆ ที่ต้องการใช้บัตรคำศัพท์ในการพัฒนาความคิดใหม่ และที่สามารถนำไปใช้ในการสอนจริงได้

อย่างไรก็ตาม กรณีทั้งสองกรณีดังกล่าวต่างก็มีเป้าหมายสำคัญร่วมกันซึ่งก็คือ การสร้างโอกาสในการพูดคุยระหว่างผู้เรียนสำหรับการฝึกเป็นคู่หรือเป็นกลุ่ม และนี่ก็เป็นจุดที่กรณีข้อ ข) มีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะเป็นจุดที่ผู้สอนส่งเสริมให้ตัวผู้เรียนสามารถค้นหาแนวการฝึกภาษาด้วยตัวเอง ครผู้สอนจะให้อิสระแก่ตัวนักเรียน และกระตุ้นให้พวกเขามีความรับผิดชอบในการสร้างและคิดค้นโอกาสในการฝึกพูดได้ด้วยตัวเอง โดยผู้เรียนจะเป็นผู้ทดลองฝึกในฐานะผู้เรียนเองด้วย

ผู้เรียนสามารถใช้ทักษะที่ได้รับการฝึกฝน รวมถึงความรู้ที่แต่ละคนมีอยู่แล้วภายในโครงสร้างการเรียนรู้ ที่ผ่านการนำเอาความรู้ด้านคำศัพท์ที่มีอยู่มาแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นความสามารถที่เห็นได้ชัดอย่างประสบความเร็จ ในขณะเดียวกันการสอนในรูปแบบดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อรูปแบบการสอนด้วยตัวของมันเอง เพราะในการปฏิบัติดังกล่าวจะสามารถเปลี่ยนบทบาทของนักเรียนให้เป็นจุดศูนย์กลางในการเรียนการสอนได้ โดยครูจะมีบทบาทเป็นผู้คอยสังเกตการณ์ คอยให้คำแนะนำอยู่เบื้องหลังกิจกรรมการเรียนรู้ และจะมีบทบาทในการฝึกการสนทนาสื่อสารก็ต่อเมื่อผู้เรียนต้องการ หรือหากมีความจำเป็นเพียงอย่างเดียว ในทางกลับกัน ผู้เรียนจะมีอิสระในการกําหนดควบคุมไม่เพียงแต่ในด้านหัวข้อและเนื้อหา แต่ยังรวมถึงความเร็วในการเรียนและตัวผู้เข้าร่วมคนอื่นในกิจกรรมการฝึกพูดได้อีกด้วย

การสังเกตการสอนและการศึกษาวิจัยต่างแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่สำคัญของการสลับเปลี่ยนบทบาทการให้อิสระทางการเรียนรู้ดังกล่าว โอกาสการฝึกพูดเป็นคู่ถือเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่สามารถพัฒนาขยายให้เป็นการสนทนาในแบบกลุ่มได้ โดยผู้เข้าร่วมการสนทนาจะสามารถสลับเปลี่ยนทิศทางการสนทนาตามหัวข้อสนทนา โดยผู้สอนควรใช้พื้นที่ทางการเรียนในห้องเรียนให้เป็นประโยชน์สูงสุด เพื่อลดบทบาทของตัวผู้สอนให้น้อยลงอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับที่บทบาทดังกล่าวไม่ส่งผลใดๆ ต่อกิจกรรมการเรียนการสอนดังกล่าวเลย
   

คําอธิบายเกี่ยวกับการปรับใช้ในการเรียนสอนและการฝึกอบรม

คอนเซปท์ของกล่องบัตรคำศัพท์ที่มีบัตรคําศัพท์และภาพที่สอดคล้องกัน เกิดขึ้นตามแนวความคิดและเป้าหมายทั่วไปสองข้อ ได้แก่ เป้าหมายใดที่ควรบรรลุและทำอย่างไรถึงจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

ย่อหน้าก่อนหน้านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับกล่องบัตรคำศัพท์เป็นหลักในหัวข้อ กิจกรรมสันทนาการ (Freizeitaktivitäten)  และหัวข้อเกี่ยวกับอาหาร (Guten Appetit) (หมายเหตุ: อาจหมายรวมถึงกล่องบัตรคำศัพท์ในหัวข้อ การตั้งคําถาม & คําขอร้อง (Fragen & Bitten) และบัตรคำศัพท์ตามหัวข้อ (Themenkarten) ได้เช่นกัน ถึงแม้ว่ากล่องบัตรคำศัพท์ในหัวข้อดังกล่าวได้รับการจัดทำขึ้นสำหรับวัตถุประสงค์อื่น) ด้วยเหตุนี้ หัวข้อต่อจากนี้จะบรรยายถึงการปรับใช้กล่องบัตรคำศัพท์ในการเรียนการสอนแบบพอสังเขป

ในค่ายฝึกภาษาเยอรมันที่มีนักเรียนจำนวน 40 คนจากโรงเรียนในประเทศไทย โดยแต่ละคนก็มีความรู้ภาษาเยอรมันที่แตกต่างกันอยู่แล้ว ครูผู้สอนของสถาบันเกอเธ่ได้ใช้กล่องบัตรคำศัพท์ในหัวข้อ กิจกรรมสันทนาการ (Freizeitaktivitäten) เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกเอาความรู้ทางภาษามาใช้งานและเพื่อวัดระดับภาษา โดยนักเรียนหนึ่งคน (คุณ A) จะต้องหยิบบัตรคำศัพท์หนึ่งใบ หาคู่สนทนาหนึ่งคน (คุณ B) และจะต้องถือแสดงบัตรหน้าที่มีรูปภาพให้คุณ B ดู หากเขารู้จักภาพดังกล่าว หรือสามารถจําแนกภาพตามหัวข้อได้ จะมีการถามคำถามในเวลาต่อมา โดยคุณ A จะต้องเป็นผู้ตอบ หากคุณ B ไม่สามารถคิดคําถามเกี่ยวกับภาพได้ คุณ B ก็จะอ่านออกเสียงข้อความภาษาเยอรมันที่หันหน้ามาทางเขา ยกตัวอย่างเช่น „Wochenende – am Wochenende schlafe ich lang.“ หากยังไม่รู้จักคำศัพท์ดังกล่าว ก็ให้อ่านออกเสียงคำแปลภาษาไทย ต่อจากนั้น ก็จะมีการสลับบทบาทกัน และสลับบัตรคำศัพท์หลังจากที่มีการคิดตั้งคำถามและตอบคำถามแล้ว และจับคู่สนทนาใหม่ ครูผู้สอนจะเดินไปเดินมาในห้องและคอยฟังการสนทนา พร้อมกับจัดแบ่งกลุ่มนักเรียนตามระดับกลุ่มภาษาทั้งสามกลุ่มของค่าย

แม้ว่าทั้งผู้เรียนและผู้สอนต่างก็เห็นด้วยกับการใช้กล่องบัตรคำศัพท์ คำถาม & คำขอร้อง รวมถึงบัตรคำศัพท์ตามหัวข้อสำหรับการฝึกพูด ในรูปแบบที่ผู้ใช้สามารถคิดวิธีใช้บัตรคำศัพท์อย่างสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง แต่ก็มีการตกลงให้ใช้และพัฒนาสื่อดังกล่าวสำหรับการเตรียมตัวและการฝึกอบรมสำหรับทักษะการพูด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสอบภาษา Fit-A1  โดยเราจะเห็นถึงทุกส่วนทั้งหมดของการสอบผ่านเนื้อหาของกล่องบัตรคำศัพท์

บัตรคำศัพท์หนึ่งใบเกี่ยวกับส่วนที่ 1 เรื่อง การแนะนำตัวเอง (sich vorstellen) จะอยู่ในกล่องบัตรคำศัพท์ตามหัวข้อ ในส่วนนี้เราจะเห็นภาพเกี่ยวกับทั้งหัวข้อและคําศัพท์ในส่วนที่ 2 ของการสอบในขณะเดียวกัน ได้แก่ หัวข้อ ในช่วงพักร้อน (Im Urlaub) คําศัพท์คำว่า ชายหาด (Strand) เราสามารถใช้กล่องบัตรคำศัพท คําถาม & คําขอร้องในการจำลองส่วนที่ 3 ของการสอบภาษาเยอรมัน Fit in Deutsch A1 ในส่วนดังกล่าว โดยเราจะเห็นภาพ รวมถึงเครื่องหมายคำถามหรือเครื่องหมายอัศเจรีย์บนด้านหนึ่งของบัตรคำศัพท์

ด้วยเหตุที่การเรียนการสอนที่ใช้ตำราเรียนในการสอนจะอ้างอิงกับรูปแบบการสอบอยู่แล้ว ลำดับขั้นตอนในการสอบของส่วน การพูด จึงมักเป็นที่รู้จักกันเป็นส่วนใหญ่ ในอดีตนักเรียนมักจะคัดลอกชุดแบบจําลองข้อสอบ ที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีบนเว็บไซต์ของสถาบันเกอเธ่เพื่อการเตรียมตัวสอบ เนื่องจากจํานวนบัตรในกล่องบัตรคำศัพท์มีจำนวนไม่มากนักทำให้นักเรียนต่างก็เห็นแต่บัตรซ้ำๆ หลังจากใช้บัตรคำศัพท์ฝึกภาษาเพียงไม่กี่รอบ ด้วยเหตุนี้นักเรียนจึงได้แค่พูดตามสิ่งที่ได้เรียนแล้วซ้ำแล้วซ้ำอีก แทนที่จะได้มีอิสระในการฝึกภาษา นอกจากนี้ การคัดลอกและการตัดบัตรคําศัพท์เองสำหรับการจำลองลำดับขั้นตอนในการสอบจริงๆ ยังเป็นการเพิ่มภาระงานและเป็นการสูญเสียทรัพยากรที่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ การออกแบบและความรู้สึกสัมผัสของตัวกล่องบัตรคำศัพท์ยังเป็นตัวเพิ่มคุณค่าด้านสุนทรียศาสตร์เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เรียนอีกด้วย เนื่องด้วยต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างต่ำทำให้เราสามารถแจกจ่ายกล่องบัตรคำศัพท์ตามข้อเรียกร้องของผู้เรียนภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศ ให้ทุกคนสามารถนำสื่อดังกล่าวมาใช้นอกห้องเรียนได้ด้วยตัวเอง สำหรับการเตรียมความพร้อมในการสอบร่วมกัน

สรุปภาพรวม 

จากการสํารวจของสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย พบว่าได้มีการนำกล่องบัตรคำศัพท์มาใช้ในการสอนที่โรงเรียนในโครงการโรงเรียนความร่วมมือแห่งอนาคต (PASCH) และโรงเรียนอื่นๆ ในความร่วมมือในราชอาณาจักรไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการจัดพิมพ์ข้อแนะนำต่างๆ ของดร. ไรเนอร์ วิกเคอ (Dr. Rainer Wicke) ซึ่งจะนํามาเสนอให้แก่คณะผู้ร่วมงานในส่วนของการจัดฝึกอบรมต่างๆ ที่กำลังจะมีขึ้น กล่องบัตรคำศัพทในหัวข้ออื่นๆ เช่น ที่อยู่อาศัย (Wohnen) สุขภาพร่างกาย (Körper & Gesundheit) และชีวิตในเมือง (in der Stadt unterwegs) ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการวางแผน แต่ก็ยังไม่ได้มีการจัดทำขึ้นในปัจจุบัน
 
เกี่ยวกับผู้เขียน

เยิร์ก คลินเนอร์ 
หัวหน้าแผนกภาษาและวิชาการ  รองผู้อำนวยการสถาบัน ที่มีจุดมุ่งหมายการทำงานหลักทางด้านการจัดการหลักสูตรภาษาและการสอบ การดําเนินการตามนโยบายด้านการเมืองและภาษาในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา Joerg.Klinner@goethe.de 

มาร์คุส ชติเชล 
ผู้ดูแลโครงการโรงเรียนความร่วมมือแห่งอนาคต PASCH ณ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ที่มีจุดมุ่งหมายหลักทางด้านการสนับสนุนเครือข่ายโรงเรียน การแนะนําตําราเรียนภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศ DaF ใหม่ และการจัดการการศึกษาและการฝึกอบรมเพิ่มเติมทั้งในรูปแบบแอนะล็อกและแบบดิจิตอล Markus.Stichel@goethe.de