การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
เรียนภาษาเยอรมันในแม่น้ำเจ้าพระยา

นักเรียนกำลังตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา
นักเรียนกำลังตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา | ส่วนหนึ่งของภาพถ่าย สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย

“ปัญหาน้ำเสียไม่ใช่เรื่องของฉัน” จะไม่มีใครกล้าพูดประโยคดังกล่าวอีกต่อไปหลังจากได้ไปล่องเรือเพื่อการศึกษาในแม่น้ำเจ้าพระยา สถาบันเกอเธ่ ได้เชิญโรงเรียนทั้งเจ็ดแห่งมาร่วมศึกษาคุณภาพน้ำในแม่น้ำ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของปัญหาทางสิ่งแวดล้อมต่อชีวิตของเราทุกคน

แดดออกจ้าเกือบทักวัน แทบจะไม่มีฝนตกและอากาศร้อนอุณหภูมิสูง เดือนมีนาคมเป็นเดือนที่เหมาะสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในไทย เนื่องจากในเดือนมีนาคม ปี 2021 มาตรการต่างๆ ในช่วงวิกฤตเริ่มคลายตัวลง ทำให้สถาบันเกอเธ่ใช้โอกาสดังกล่าวในการเชิญครูทั้งเจ็ดคนและนักเรียนทั้ง 41 คนจากทั่วประเทศมาเข้าร่วมกิจกรรมล่องเรือเพื่อการศึกษาบนแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อที่ทุกคนจะได้ออกมาสูดอากาศบริสุทธิ์ข้างนอก และพบปะพบเจอกันเสียที โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนเรียนภาษาเยอรมันพร้อมกับทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน อีกทั้งยังให้ผู้เข้าร่วมโครงการเข้าใจประเด็นต่างๆ ทางสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ

การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ

ตัั้งแต่ปี 2018 สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ได้สนับสนุนความร่วมมือทางการศึกษาภาษาเยอรมันร่วมกับโครงการการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนหลายโครงการ นักเรียนจะเข้าร่วมโครงการกิจกรรมที่สนุกสนานอย่างต่อเนื่องพร้อมกับการศึกษาเข้าใจประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยผู้เข้าร่วมโครงการได้ล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อสังเกตสิ่งแวดล้อมริมแม่น้ำ วิถีชีวิตผู้คนที่อาศัยริมแม่น้ำ อีกทั้งยังได้ฝึกใช้ภาษาเยอรมันนอกห้องเรียนไปในตัว ทางสถาบันได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานการศึกษา Traidhos Three- Generation Community มาจัดกิจกรรมล่องเรือและให้มาร่วมลงเรือลำเดียวกันจริงๆ อีกด้วย

ทัศนศึกษาในแม่น้ำเจ้าพระยา

แม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในประเทศไทย เป็นเส้นทางการคมนาคมทางเรือที่สำคัญ และคลองที่แตกแขนงออกจากตัวแม่น้ำก็ช่วยกระจายทรัพยากรทางน้ำไปสู่พื้นที่เกษตรกรรมปลูกข้าวต่างๆ อีกด้วย คนไทยหลายคนจึงยกให้แม่น้ำเจ้าพระยาว่าเป็น “หนึ่งในแม่น้ำที่สำคัญที่สุดในเมืองไทย” โดยจะไหลจากตอนเหนือลงไปยังกรุงเทพและไปสิ้นสุดที่อ่าวไทย

ในโครงการที่จัด ผู้เข้าร่วมโครงการจากทั้งเจ็ดโรงเรียนในกรุงเทพได้ล่องเรือไม้แบบดั้งเดิมจากกรุงเทพไปยังอยุธยาซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าที่เต็มไปด้วยวัดวาอารามที่สวยงาม ไปจนถึงปิยวรรณรีสอร์ทซึ่งเป็นที่พักในโครงการ

มีโรงงานประมาณ 30,000 แห่งตามแอ่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางน้ำ นอกจากนี้ การขยายเมืองก็ทำให้มีการถมคลองเล็กคลองน้อยต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเพิ่มขึ้นตามมา

ในระหว่างการล่องเรือ นักเรียนแต่ละกลุ่มได้ใช้เวลาในการพัฒนาแผนการใช้พื้นที่ตามลุ่มน้ำในรูปแบบของกิจกรรมการแสดงบทบาทสมมุติ พร้อมกับสังเกตสภาพชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโดยตรงว่า บางคนก็อาบน้ำในแม่น้ำ บางคนก็ขายของบนเรือ นักเรียนยังสามารถลองตรวจสอบคุณภาพน้ำด้วยตัวเอง และเรียนรู้ตัวบอกระดับคุณภาพน้ำต่างๆ เข่น ผักตบชวา เป็นตัน คุณแพรวศุลี นิโครธานนท์ ครูผู้สอนจากสถาบันเกอเธ่ที่เข้าร่วมทัศนศึกษาระบุว่า “กิจกรรมดังกล่าวช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการดำเนินชีวิตของตัวเองมีผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร นอกจากนี้ กิจกรรมการแสดงบทบาทสมมุติก็ช่วยให้พวกเขาตระหนักถึงความต้องการและผลประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละกลุ่มคน เช่น ผู้อยู่อาศัย ชาวนา คนทำงานโรงงานและนักการเมือง ซึ่งต่างก็ต้องอาศัยแม่น้ำในการดำเนินชีวิต”

ในวันที่สองของโครงการ นักเรียนจะได้เข้าค่ายกิจกรรมทางภาษาพร้อมทำกิจกรรมที่สนุกสนานเพลิดเพลินในปิยวรรณ รีสอร์ท ได้แก่ การสัมภาษณ์กันและกันเป็นภาษาเยอรมันเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวันที่เกี่ยวกับการใช้น้ำ และการพูดคุยเกี่ยวกับวิถีทางต่างๆ ในการประหยัดน้ำ นักเรียนยังได้ทำกิจกรรมอัพไซคลิ่ง (upcycling) เปลี่ยนเสื้อตัวเก่าเป็นถุงผ้าใบใหม่ โดยตลอดกิจกรรม ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนจะได้เรียนรู้และจดบันทึกคำศัพท์ที่สำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนลงในสมุดจดของตัวเอง (ดูใน แกลอรี่รวมภาพ) 

การเชื่อมโยงกับการเรียนการสอนในโรงเรียน

ผู้ประสานงานโครงการ คุณปรัศนีย์ ศิลปนาวิน (เหมี่ยว) ระบุว่า “น้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญในทุกที่ รวมถึงในโรงเรียนเองด้วย” โดยก่อนเข้าค่ายภาษา นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะต้องศึกษาเกี่ยวกับปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในเมืองที่ตัวเองอาศัยอยู่ ซึ่งก็เป็นปัญหาที่โรงเรียนแต่ละแห่งต่างก็ประสบโดยตรง ในระหว่างการทำกิจกรรมในค่าย พวกเขาจะมีโอกาสร่วมกันคิดค้นแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้นักเรียนสามารถเชื่อมโยงปัญหาในบ้านเกิดของตัวเองกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) อีกทั้งยังช่วยให้เห็นว่า ปัญหาทางน้ำจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วไปได้อย่างไร

การบูรณาการการเรียนภาษาเยอรมันเข้ากับการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นหนึ่งในแนวคิดที่สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทยได้ยึดถือและยังคงปฏิบัติต่อไปในอนาคต
โครงการนี้เป็นตัวอย่างจากหลายโครงการที่พัฒนาจากแนวคิดนี้ รวมถึงโครงการอื่นๆ อีกมากมายที่จะตามมา เพื่อต่อยอดแนวคิดนี้ต่อไปในอนาคต