ปุ่มลัด:

ไปที่เนื้อหาโดยตรง(Alt 1) ข้ามไปยังเนวิเกชั่นหลัก (Alt 2)

บทสัมภาษณ์ยูดิธ ชาลันสกี จากหนังสือพิมพ์ HAZ
“อดีตเป็นสิ่งที่ต้องคิดค้นขึ้นมาใหม่อยู่เสมอ”

ผู้เขียน ยูดิธ ชาลันสกี
ภาพ: ยือร์เกน เบาเออร์/สำนักพิมพ์ Suhrkamp

บทสัมภาษณ์ของนักเขียน ยูดิธ ชาลันสกี เกี่ยวกับการสูญเสีย การลืมเลือนและหนังสือในฐานะสื่อที่สมบูรณ์แบบที่สุด

คุณชาลันสกีคะ คุณได้เขียนถึงความโดดเดี่ยวและการสิ้นสุดของสรรพสิ่งหรือของแผนการชีวิตไว้ตั้งแต่ในหนังสือเล่มแรกๆ ของคุณ ส่วนในหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสูญเสีย เพราะเหตุใดคุณจึงสนใจประเด็นเหล่านี้
เมื่อบางสิ่งสูญหายไป มันได้เปลี่ยนรูปจากของจริงไปสู่จินตนาการ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นแม้กับสิ่งของทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น พวงกุญแจ พอมันหายไปอย่างกะทันหัน ทำให้เราต้องเผชิญกับปริศนาที่แก้ไม่ได้ ในการเขียนนั้นฉันสนใจพื้นที่ที่เสียงสะท้อนทิ้งร่องรอยของการสูญหายเอาไว้ สิ่งที่หลงเหลือจากธรรมชาติหรือสิ่งประดิษฐ์ที่สูญหายไปแล้วคืออะไร เราจะใช้การเล่าเรื่องมาช่วยในอธิบายช่องว่างที่เกิดขึ้นและทำให้สัมผัสได้ อย่างช่วงงานเลี้ยงหลังการฝังศพ การเล่าเรื่องเป็นการปลอบประโลมที่ดีที่สุด
 
การสิ้นสุดของเยอรมันตะวันออกมีผลกับคุณอย่างไรบ้าง
ฉันก็มีประสบการณ์ร่วมกับคนเยอรมันตะวันออกคนอื่นๆ ในเรื่องว่าทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปได้เพียงข้ามคืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพรมแดน หน่วยเงินตรา หรือคติคำขวัญต่างๆ รวมทั้งประสบการณ์ที่ว่าเราจะมีชีวประวัติสองส่วน ได้แก่ ส่วนก่อนและหลังการรวมชาติ
 
ในบางตอนของหนังสือมีการกล่าวถึงเมืองไกรฟสวัลด์ (Greifswald) สถานที่ที่คุณถือกำเนิดในปีค.ศ. 1980 การเขียนเรื่องนี้ทำให้คุณมีประสบการณ์ใหม่ๆ เกี่ยวกับบ้านเกิดแห่งนี้หรือไม่ มีอะไรแปลกใหม่ให้เรียนรู้ไหม
มีค่ะ มีเรื่องหนึ่งที่ฉันเขียนขึ้นจากการเดินตามริมแม่น้ำรืค (Ryck) ที่ไหลผ่านเมืองไกรฟสวัลด์ แม่น้ำมีความยาวตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงออกปากอ่าวทั้งสิ้น 30 กิโลเมตร ฉันแบ่งการเดินทางออกเป็นสามช่วง ระหว่างแต่ละช่วงมีการพักสามสัปดาห์ โดยฉันมีจุดมุ่งหมายว่า จะขอบรรยายธรรมชาติที่ได้พบเจอระหว่างทาง เมื่อฉันเริ่มออกเดินทาง ตอนนั้นยังเป็นหน้าหนาวอยู่เลย แม้จะพกหนังสือคู่มือภาคสนามติดเป้ไปด้วย แต่มันก็ยากลำบากพอควรเวลาที่เห็นพุ่มไม้ไร้ใบ แล้วระบุไม่ได้ว่านี่เป็นไม้หนามพันธุ์ใดกันแน่ ฉันไม่เพียงต้องแยกชนิดพันธุ์ไม้และสิงสาราสัตว์ แต่ต้องคิดค้นกลุ่มคำขึ้นมาใหม่ เพื่อพรรณนาธรรมชาติอันคุ้นเคย มันเหมือนเป็นการค้นพบสัจจธรรม
 
ในหนังสือคุณเขียนเกี่ยวกับท่าเรือที่ไกรฟสวัลด์ เกี่ยวกับเกรทา การ์โบ (Greta Grabo) ในแมนฮัตตัน และเกี่ยวกับเสือแคสเปียนในโรมันโบราณ อะไรคือจุดเชื่อมโยง สิ่งเหล่านี้มีอะไรที่คล้ายกัน
ทุกเรื่องในหนังสือเป็นเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์การสูญเสีย เริ่มจากภาพวาดที่ไหม้ไฟของศิลปินโรมัน คาสปาร์ ดาวิด ฟรีดริช (Caspar David Friedrich) ฉันได้บรรยายความเป็นไปที่มีธรรมชาติดั้งเดิมอยู่อย่างเจือจาง มันไม่ได้เริ่มที่การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติอันป่าเถื่อนไปสู่ทิวทัศน์วัฒนธรรมที่นำมาใช้ได้ อันบ่งบอกจุดสิ้นสุดของเสือแคสเปียน ในงานเขียนของฉันมีการยกตัวอย่างเสือสายพันธุ์ย่อยชนิดนี้ที่กำลังไล่ล่าสิงโตบาร์บารีในอารีนาแห่งโรม ในอีกเรื่องเราจะพบว่าตัวเองอยู่ในความนึกคิดของเกรทา การ์โบวัย 46 ผู้ซึ่งไม่ได้แสดงภาพยนตร์มาหลายปีแล้ว และกำลังเผชิญปัญหาความคาดหวังด้านรูปลักษ์จากผู้คนที่มีต่อซูเปอร์สตาร์ที่ยังมีชีวิตอยู่
 
ส่วนในเรื่องที่คุณเขียนเกี่ยวกับเพลงรักของแซฟโฟไว้ว่า “แซฟโฟของแต่ละถือกำเนิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา” ความสูญเสียให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไปในแต่ละครั้งนั้น หรือไม่
แน่นอนค่ะ เวลาแนวขบถนั้นเรียกร้องต้องการอยากกำจัดความชราให้สิ้นไป ขณะที่เวลาแบบอนุรักษ์นิยมนั้น สิ่งที่สูญหายไปจะถูกสร้างขึ้นมาใหม่ อย่างเช่น ปราสาทประจำเมืองเบอร์ลิน อาจกล่าวได้ว่า อดีตนั้นคือสิ่งที่ต้องคิดค้นขึ้นมาใหม่อยู่เสมอ
 
การเขียนและการเล่าเรื่องทุกๆ ครั้งก็เป็นการเก็บรักษาในรูปแบบหนึ่งอยู่แล้ว มันคือวิธีที่คุณต่อกรกับการสูญเสียของสิ่งมีชีวิต สรรพสิ่งและความทรงจำหรือไม่
ใช่ค่ะ มันเป็นความพยายามที่จะทำให้สิ่งที่หายไปมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกในเรื่องเล่า นับเป็นการรักษาสมดุลที่น่าประทับใจทีเดียว
 
แต่คนเราก็ไม่สามารถเก็บรักษาทุกสิ่งทุกอย่าง หรือบันทึกทุกเหตุการณ์เอาไว้ได้ การลืมเลือนไม่ใช่การปลดปล่อยในทางหนึ่งหรือคะ
ใช่แล้วค่ะ เราทุกคนไม่ว่าจะในฐานะปัจเจกหรือเป็นกลุ่มก็ไม่สามารถเก็บรักษาทุกสิ่งเอาไว้ได้ เราต้องเลือกเฉพาะสิ่งที่สำคัญกับเรา บ่อยครั้งทีเดียวที่ของที่ระลึกนั้นได้ทำหน้าที่ตามชื่อของมันคือเป็นที่เก็บความทรงจำให้ระลึกถึง ใครที่เก็บรักษาไว้ทุกสิ่ง แท้จริงแล้วไม่ได้เก็บอะไรไว้เลย เราไม่อาจใช้ชีวิตอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งอดีตของตนเองได้ ทว่าผู้ที่อยากจะลืมทุกสิ่งทุกอย่างและมองไปข้างหน้าอย่างเดียวนั้น กลับเป็นคนที่ปฏิเสธตัวเอง
 
ในยุคที่ทุกสิ่งกลายเป็นดิจิทัลอย่างนี้ หนังสือมักถูกมองว่าเป็นสื่อที่ตายแล้ว แต่คุณกลับให้คำจำกัดความหนังสือว่าเป็น “สื่อที่สมบูรณ์แบบที่สุดในบรรดาสื่อทั้งหมด“ ทำไมคุณจึงคิดเช่นนั้น  
หนังสือเป็นพื้นที่ที่เนื้อหาและรูปแบบสามารถหลอมรวมเข้าด้วยกันจนแยกไม่ออก เหมือนคนเราที่มีร่างกายที่(หากรักษาไว้ดีๆ) จะทนทานอยู่ได้รุ่นต่อรุ่น ส่วนข้อมูลดิจิทัลอย่างสมัยที่ฉันเป็นนักศึกษา ตอนนี้เข้าใช้งานไม่ได้แล้ว ต่างจากหนังสือในวัยเด็กของฉัน จนทุกวันนี้ฉันยังคงเอื้อมไปหยิบมาอ่านได้เสมอจากชั้นหนังสือ