การเรียนการสอนแบบนับรวมทุกคน
ภาษาแบบนับรวมเพศสภาพในชั้นเรียนภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศ

ภาษาแบบนับรวมเพศสภาพ
© Sharon McCutcheon

ภาษา รวมไปถึงการเรียนภาษานั้นมีความเกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ของผู้คนอย่างแนบแน่น ตั้งแต่เริ่มแรกผู้เรียนจะเรียนการแนะนำตัวเอง พูดถึงประสบการณ์ของตัวเองและความสัมพันธ์กับผู้อื่น ผู้สอนจะช่วยผู้เรียนได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถแสดงออกถึงอัตลักษณ์ด้านเพศสภาพที่นอกเหนือจากระบบสองขั้วชาย-หญิงได้

ภาษาแบบนับรวมเพศสภาพมีความสำคัญอย่างไรในชั้นเรียนภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศ

ผู้เรียนภาษาไม่ใช่ทุกคนที่จะแสดงตัวตนในอัตลักษณ์ว่าเป็น “ชาย” หรือ “หญิง” ในโครงสร้างสองขั้วเท่านั้น ที่เหนือไปกว่านั้นคือ เพศสภาพหรือภาวะเพศทางสังคมของคนซึ่งมีเฉดที่หลากหลาย แต่ภาษาเยอรมันจะสะท้อนความหลากหลายเหล่านี้ออกมาได้อย่างไร นอกเหนือจากกฎเกณฑ์ทางการทั่วไปในภาษาเยอรมันแล้ว ยังมีทางเลือกอีกมากมายสำหรับการใช้ภาษาแบบนับรวมเพศสภาพ ผู้สอนสามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนรับรู้ถึงความละเอียดอ่อนของภาษาที่นับรวมเพศสภาพได้ โดยการแนะนำให้ผู้เรียนตระหนักถึงทางเลือกของการใช้ภาษาเหล่านี้

สร้างอัตลักษณ์ทางเพศให้มองเห็น

ในการเรียนภาษานั้นมีความจำเป็นที่เราจะต้องใช้คำนามที่เกี่ยวข้องกับบุคคล ภาษาเยอรมันมีขนบการใช้ตามการแบ่งเพศสองขั้ว ได้แก่ ชายและหญิง แต่ในปัจจุบันภาษาเยอรมันก็มีทางเลือกให้การแสดงออกให้เห็นถึงความหลากหลายทางเพศกว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Binnen-I หรือตัวเชื่อม I เช่นคำว่า “LehrerIn” อันเป็นความพยายามที่จะแทนที่การใช้คำนามเพศชายเป็นหลัก แต่การเขียนวิธีนี้ก็ยังติดอยู่ในโครงสร้างสองขั้วอยู่ ทางเลือกอีกสองวิธีสำหรับการใช้ภาษาแบบนับรวม ได้แก่ Gender-Gap (Herrmann 2003) หรือช่องว่างเจนเดอร์ เช่นคำว่า “Student_in” และ das Gendersternchen หรือดอกจันเจนเดอร์ เช่นคำว่า “Student*in” ช่องว่างและดอกจันแสดงถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย ในห้องเรียนภาษาเราสามารถสร้างความตระหนักเรื่องการนับรวมด้วยแบบฝึกหัดเกี่ยวกับดอกจันเจนเดอร์หรือช่องว่างเจนเดอร์ได้ รูปภาพก็เป็นวิธีการสื่อสารให้เห็นภาพของการนับรวมได้อีกวิธีหนึ่ง มีคลังเก็บรูปภาพสื่อการสอนแบบนับรวมที่น่าใช้สำหรับผู้สอน เช่น "Disabled And Here Collection" หรือ "The Gender Spectrum Collection"

เพื่อนๆ หลากหลายเพศ ในงานปาร์ตี้ | © DR. STEFFEN KAUPP เพื่อนๆ หลากหลายเพศ ในงานปาร์ตี้ | © The Gender Spectrum Collection | © The Gender Spectrum Collection

เพื่อนๆ หลากหลายเพศ ในงานปาร์ตี้

ดอกจันเจนเดอร์และช่องว่างเจนเดอร์ช่วยทำให้คำนามในภาษาเยอรมันมีรูปแบบที่นับรวมเพศสภาพ ตัวอย่างเช่น จากคำว่า “Freund” (เพื่อน เพศชาย) และ “Freundin” (เพื่อน เพศหญิง) เป็นคำว่า “Freund*in” (เพื่อน เพศใดก็ได้) สำหรับผู้เรียน (รวมถึงผู้สอนเองด้วย) จะเกิดความยากลำบากด้านภาษาในระดับหนึ่ง เนื่องจากอาจขาดข้อมูลทางไวยากรณ์บางส่วนไป ตัวอย่างเช่น ประโยคที่เขียนว่า „Ich sehe eine*n Köch*in“ (ฉันเห็นพ่อ*แม่ครัว) ผู้เรียนจะไม่อาจทราบได้เลยว่า รูปเอกพจน์ของคำนามเพศชายนั้น คือ „Koch” ไม่ใช่ „Köch”  วิธีการจัดการกับปัญหานี้ผู้สอนสามารถสอนนักเรียนให้รู้จักคำนามในรูปแบบที่เป็นกลางทางเพศ เช่น “Studierende” หรือ “Lernende” แล้วจะทำอย่างไรดีหากการใช้ภาษาโดยทั่วไปไม่มีคำในรูปแบบที่เป็นกลางให้เลือกใช้ ครูผู้สอนอาจสอนให้ผู้เรียนได้รู้จักกับการใช้ภาษาอย่างสร้างสรรค์เพื่อหลีกเลี่ยงโครงสร้างแบบสองขั้ว ดังตัวอย่าง แทนที่จะใช้คำว่า “der*die Teilnehmer*in” (ผู้เข้าร่วม เพศใดก็ได้) ให้เปลี่ยนเป็น “die teilnehmende Person” (บุคคลที่เข้าร่วม) หรือคำว่า “der*die Chefin” (เจ้านาย เพศใดก็ได้) เป็นคำว่า „die Führungskraft” (ผู้บริหาร) เป็นต้น

การนำไปใช้ในการเรียนการสอน

ผู้เรียนจะได้รับรายการคำนาม 3-4 คำ (เช่น คำว่า der*die Sänger*in, คำว่า der*die Arbeiter*in หรือคำว่า der*die Fensterreiniger*in) และให้ทำแบบฝึกหัดเปลี่ยนคำนามเหล่านี้จากรูปแบบดอกจันเจนเดอร์ไปเป็นรูปแบบที่เป็นกลางทางเพศ เช่น จากคำว่า “der*die Sänger*in” ให้เปลี่ยนเป็นคำว่า “die singende Person” หรือจากคำว่า “der*die Fensterreiniger*in” ให้เปลี่ยนเป็นคำว่า “die Fensterreinigungskraft” เป็นต้น แบบฝึกหัดเพื่อค้นคว้าก็เหมาะกับสำหรับการเรียนระดับเริ่มต้นโดยให้ผู้เรียนค้นทางเลือกในการใช้คำนามที่เป็นกลางทางเพศ เช่น จากเว็บไซต์ https://geschicktgendern.de/.
การค้นคว้าในพจนานุกรมเจนเดอร์ดิจิทัล การค้นคว้าในพจนานุกรมเจนเดอร์ดิจิทัล | © ดร. ชเตฟเฟน เคาพ์

การนับรวมเพศสภาพที่นอกเหนือไปจากคำนาม

การเรียนการสอนที่นับรวมเพศสภาพมิใช่มีเพียงแค่การใช้คำนามเท่านั้น  บ่อยครั้งที่มีการใช้คำสรรพนามบุคคล xier ซึ่งมีที่มาจากกลุ่มข้ามเพศเยอรมัน คำอธิบายอย่างละเอียดสำหรับการใช้สรรพนามประเภทนี้สามารถค้นคว้าได้บนเว็บไซต์ของอันนา เฮเกอร์ การสร้างความตระหนักแก่ผู้เรียนในการใช้คำสรรพนามเหล่านี้ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกับคำนามที่เป็นกลางทางเพศ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องอธิบายลงลึกถึงรายละเอียดหรือตั้งวงอภิปรายกันแต่อย่างใด แต่อาจเป็นการเอ่ยถึงประเด็นดังกล่าวโดยการตั้งคำถามในห้องเรียนขณะแนะนำตัวก็ได้ว่า “นักเรียนอยากใช้สรรพนามแทนตัวเองว่าอย่างไร” ด้วยวิธีการดังกล่าวจะทำให้การนับรวมเพศสภาพกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ภาษาโดยทั่วไป เมื่อผู้เรียนมีโอกาสได้ใช้คำนามและสรรพนามที่เป็นกลางทางเพศในสถานการณ์จริง การใช้ภาษาอันเป็นการนับรวมบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในเพศสองขั้วก็จะเกิดบ่อยขึ้นจนเป็นปกติไปในที่สุด

บทสนทนาแบบนับรวมเพศสภาพ บทสนทนาแบบนับรวมเพศสภาพ | © ดร. ชเตฟเฟน เคาพ์

หลายอย่างยังไม่มีในพจนานุกรม

การใช้ภาษาแบบนับรวมเพศสภาพนั้นเกี่ยวเนื่องกับเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศสภาพอย่างแนบแน่น ผู้สอนภาษาเยอรมันที่ต้องสอนภาษาในบริบทวัฒนธรรมต่างๆ ต้องเชื่อมโยงเงื่อนไขวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้าและวาทกรรมในประเด็นเพศสภาพเข้ากับภาพลักษณ์สมัยใหม่ที่นับรวมทุกคนของประเทศเยอรมนีอย่างประนีประนอม แม้ว่าโครงสร้างภาษาในรูปแบบใหม่นี้บางส่วนจะยังไม่ได้บรรจุในพจนานุกรมฉบับดูเดนอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ก็เป็นหน้าที่สำคัญของผู้สอนอย่างพวกเราที่จะต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่จะทำให้ผู้เรียนทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียน และการสอนการใช้ภาษาเพื่อแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศสภาพที่หลากหลายก็นับเป็นส่วนสำคัญของการนับรวมนี้เช่นกัน

 

แหล่งอ้างอิง

  • Herrmann, Steffen (2003): Performing the Gap – Queere Gestalten und geschlechtliche Aneignung. Arranca! Ausgabe 28, November, S. 22 - 26.
  • Djavadghazaryans, Angineh. ’Please Don’t Gender Me!’ Strategies for Inclusive Language Instruction in a Gender-Diverse Campus Community.” Diversity and Decolonization in German Studies. Hrsg. Regine Criser and Ervin Malakaj. New York: Palgrave, 2020. 269–287.