งานเสวนา Art for the People?

Art for the People? © Kullaya Sriwatanarotai

1 ตุลาคม 2560 เวลา 16.00 - 19.00 น.

Cho Why, เยาวราช

เสวนาในหัวข้อ “เทศกาลและกิจกรรมทางศิลปะระดับโลกควรแสดงบทบาทและทำหน้าที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคมในมิติใดบ้าง?

ผู้ร่วมเสวนา: ถนอม ชาภักดี, กมล เผ่าสวัสดิ์ และอริญชย์ รุ่งแจ้ง
ดำเนินการเสวนา: เพ็ญวดี นพเกตุ มานนท์

ในปีนี้มีงานเทศกาลศิลปะที่สำคัญระดับโลกเกิดขึ้นในยุโรปหลายงาน วงการศิลปะร่วมสมัยเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ที่ผู้สร้างสรรค์มีการนำเสนอบริบท เรื่องราว สาระปัญหาต่างๆ ผ่านสื่อวัตถุทางศิลปะและแสดงตามหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ พื้นที่ศิลปะทางเลือก รวมทั้งการจัดเทศกาลศิลปะหลากหลายรูปแบบ เพื่อนำเสนอมุมมองของศิลปิน ในปัจจุบันเทศกาลศิลปะและพื้นที่แสดงงานศิลปะระดับสากล มักเกิดจากวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์ได้แสดงออกและนำเสนอมุมมองของตนต่อพื้นที่ที่ดำรงอยู่ โดยยึดโยงกับความเป็นชุมชน สังคม ท่ามกลางศิลปวัฒธรรมอันหลากหลาย เทศกาลและกิจกรรมทางศิลปะสำคัญๆทั่วโลก ต่างแข่งขันกันหยิบยกประเด็นทางสังคมมานำเสนอมุมมอง เพื่อตั้งคำถามและกระตุ้นผู้ชมให้เกิดการต่อยอดทางความคิด

ภายในงานเสวนาในหัวข้อ “Art for the People? - A discussion on how & why major international art events should count” ประเด็นคำถามที่เราอยากเชิญชวนทุกท่านร่วมสำรวจและพูดคุยว่าด้วยเรื่องของเทศกาลและกิจกรรมทางศิลปะระดับโลก บทบาทและหน้าที่ต่อสังคม โดยได้ผู้ร่วมเสวนาเป็นศิลปินและที่คร่ำหวอดในแวดวงศิลปะ ผู้มีประสบการณ์การเดินทางไปร่วมงานเทศกาลศิลปะระดับโลกในเยอรมนีมาร่วมพูดคุย ได้แก่ ถนอม ชาภักดี ศิลปินและนักวิจารณ์ศิลปะ, กมล เผ่าสวัสดิ์ ศิลปินและอาจารย์ด้านศิลปะ และอริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินไทยที่ได้จัดแสดงผลงานในเทศกาล Documenta 14 ที่เยอรมนีในปีนี้ ดำเนินการเสวนาโดยเพ็ญวดี นพเกตุ มานนท์ ภัณฑารักษ์มากประสบการณ์ในแวดวงศิลปะไทยและต่างประเทศ นอกจากพูดคุยแล้ว ผู้ร่วมเสวนายังชวนชวนผู้ชมถกประเด็นและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในบริบทงานในประเทศไทย เนื่องด้วยในปี 2561 ที่จะถึงนี้เป็นโอกาสอันดีที่กรุงเทพมหานครกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงศิลปะระดับนานาชาติถึง 3 งานใหญ่ อันได้แก่ Bangkok Biennale, Bangkok Art Biennale และ Thailand Biennale

ผู้ร่วมเสวนา:
อริญชย์ รุ่งแจ้ง เป็นหนึ่งในศิลปินไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมแสดงงานใน documenta 14 ที่ผ่านมา งานเขาโดดเด่นในเรื่องการนำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ซ้อนทับกัน ที่ถูกบอกเล่าจากสถานที่ เวลา และภาษาที่แตกต่างกันมาตีความและถ่ายทอดเป็นผลงานทางศิลปะ ความสนใจหลักของเขาคือการนำเสนอมุมมองที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยและความเชื่อมโยงของเรื่องราวเหล่านี้สู่ปัจจุบัน
 
กมล เผ่าสวัสดิ์ เป็นหนึ่งในศิลปินผู้เริ่มต้นและทำงานศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยยุคแรกๆ และเป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในผู้บุกเบิกการงานศิลปะเชิงแนวคิด การจัดวาง และวิดีโออาร์ต ผลงานนิทรรศการของเขาจัดขึ้นมาแล้วทั่วโลก ทั้งในเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ในปี 2003 เขาได้เข้าร่วมในเทศกาลศิลปะนานาชาติ Venice Biennale ครั้งที่ 50 ปัจจุบัน รศ. กมล เผ่าสวัสดิ์ ยังเป็นอาจารย์ประจำที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ถนอม ชาภักดี เป็นนักวิจารณ์ศิลปะ และสอนทฤษฎีแนวคิดเชิงวิจารณ์ศิลปะ วัฒนธรรม ที่สาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ควบคู่ไปกับการปฎิบัติการเขียนวิจารณ์ศิลปะในนิตยสารรายสัปดาห์หลายฉบับมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2520 จนถึงต้นทศวรรษ 2550 คลุกคลีอยู่ในแวดวงความเคลื่อนไหวศิลปะมาอย่างยาวนาน นอกจากนั้นยังได้ตระเวนดูเทศกาลศิลปะสำคัญๆ เช่น documenta, project sculpture เป็นต้น ถนอมเชื่อว่าการวิจารณ์ศิลปะก็เป็นกระบวนการสร้างศิลปะในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์ วิจารณ์ ถกเถียง ในบรรยากาศของการสร้างสรรค์และเป็นพลังในการขับเคลื่อนทางศิลปะไม่ให้หยุดนิ่ง
 
เพ็ญวดี นพเกตุ มานนท์ ผู้ดำเนินการเสวนา เกิดที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา, เติบโต ทำงาน และอาศัยที่กรุงเทพมหานคร เริ่มต้นทำงานด้านการจัดการทางศิลปะและวัฒนธรรมจากการเป็นผู้ช่วยภัณฑารักษ์ที่ ห้องศิล์ป โปรเจ็ค 304 (พ.ศ. 2544) เข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมภัณฑารักษ์ของ หอศิล์ป บ้านจิม ทอมป์สัน ระหว่าง (พ.ศ. 2550-2555) ปัจจุบัน นอกจากเป็นภัณฑารักษ์อิสระแล้ว เพ็ญวดียังทำงานด้านการจัดการโครงการศิลปวัฒนธรรมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ล่าสุดเพ็ญวดีได้ก่อตั้ง Rai.D Collective กลุ่มภัณฑารักษ์และคนทำงานด้านวัฒนธรรม ความสนใจของเธอมักเชื่อมโยงกับการมีส่วนร่วมทางสังคมการเมือง ทั้งในโครงสร้างระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และนานาชาติ

ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ฟรี เพียงลงทะเบียนล่วงหน้า

แบบฟอร์มสำหรับลงทะเบียน

ย้อนกลับ