ครูผู้สอนภาษาเยอรมันในประเทศไทย
พร้อมสอบใบวัดระดับทางภาษา Goethe-Zertifikat กับชมรมภาษาเยอรมัน

เราจะเห็นหัวข้อหลักของชมรมภาษาเยอรมันในวงกลมสีขาวหลายวงบนพื้นหลังสีเขียว ได้แก่ การใช้ชีวิตในช่วงโรคระบาด คำแนะนำในการเรียนภาษาเยอรมัน โลกาภิวัตน์ โภชนาการ การบริโภค การท่องเที่ยว
ในปี 2021 ชมรมภาษาเยอรมันมีหัวข้อสนทนาดังกล่าว | ภาพประกอบ © สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย

ชมรมภาษาเยอรมันเป็นพื้นที่ออนไลน์แห่งแรก ที่สนับสนุนให้ครูผู้สอนชาวไทยเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบวัดระดับภาษาตั้งแต่ระดับ B2 - C1

ยกระดับมาตรฐานทางภาษาของครูผู้สอนภาษาเยอรมันในฐานะภาษาต่างประเทศในประเทศไทย

ตั้งแต่สิงหาคมถึงธันวาคม 2021 คณะครูผู้สอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาจากทั่วทุกภาคได้เข้าร่วมกิจกรรมในชมรมภาษาเยอรมันเป็นเวลานานกว่า 16 สัปดาห์ ชมรมภาษาเยอรมันหรือ Deutschclub เป็นพื้นที่ฝึกฝนทางภาษาแบบออนไลน์ ที่ให้ครูผู้สอนได้พัฒนาระดับภาษาและเรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียนตัวเองได้ โดยมีที่มาที่ไปดังนี้ บ่อยครั้งที่ครูผู้สอนคนไทยจะใช้ภาษาเยอรมันแต่เพียงในห้องเรียนเท่านั้น เนื่องด้วยประเทศไทยมีพื้นที่ใหญ่ ซึ่งมีโรงเรียนที่สอนภาษาเยอรมันถึง 51 โรงเรียน ทำให้แต่ละโรงเรียนอยู่ไกลออกจากกันและเป็นเรื่องยากสำหรับครูผู้สอนในการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้ ครูผู้สอนกลุ่มหนึ่งจึงต้องการให้มีการจัดกิจกรรมการฝึกฝนทางภาษาขึ้น เพื่อฝึกวินัยการพัฒนาภาษาให้กับตัวเองและให้ตัวเองได้ใช้ภาษาเยอรมันอยู่ตลอดเวลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมการสอบวัดระดับทางภาษาเยอรมันในระดับ B2 หรือแม้แต่ระดับ C1

รูปแบบการฝึกฝนตามหัวข้อแทนการเตรียมตัวสอบภาษาทั่วไป

แทนที่จะใช้การฝึกเพื่อเตรียมสอบทางภาษาทั่วไป ครูสอนภาษาเยอรมันจากสถาบันเกอเธ่ Stefan Göpel และธนรัตน์ ดิตถ์วัชรไพศาล ได้เลือกแบบการเรียนการสอนที่อิงตามหัวข้อที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสนใจ เพื่อยกระดับภาษาและให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมฝึกเขียนและพูดภาษาอย่างเต็มที่

ผู้เข้าร่วมชมรมจะได้รับแบบฝึกหัดเกี่ยวกับหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งทุกอาทิตย์ผ่านแพล็ตฟอร์มการเรียนรู้ Moodle โดย Stefan Göpel ระบุว่า “พวกเราได้เลือกหัวข้อต่างๆ ตามความสนใจของผู้เข้าร่วมชมรมเอง” “เริ่มตั้งแต่หัวข้อการใช้ชีวิตในช่วงโรคระบาด คำแนะนำในการเรียนภาษาเยอรมัน โลกาภิวัตน์ โภชนาการ ไปจนถึงการบริโภคและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหัวข้อที่ใกล้เคียงกับชีวิตการทำงานจริงของครูผู้สอน โดยการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็ถือเป็นหัวข้อหลักของทุกกิจกรรมที่สถาบันเกอเธ่จัดขึ้นและสอดแทรกอยู่ในทุกหัวข้อดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น ครูผู้สอนจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริโภคอาหารอย่างสิ้นเปลืองและอาหารในโรงอาหารของโรงเรียนตัวเอง”

สิ่งที่ Stefan Göpel และธนรัตน์ ดิตถ์วัชรไพศาล ให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือการจัดทำแบบฝึกหัดการพูดคุยสื่อสารในแบบที่ตรงตามความสนใจของครูผู้สอนอย่างแท้จริง เพราะมันจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมชมรมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันและกันอย่างอัตโนมัติ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับความสามารถทางภาษาอย่างเป็นธรรมชาติไปในตัวอีกด้วย สื่อการสอนที่เป็นบทความ ไฟล์เสียงและวีดีโอจะเป็นสื่อการสอนหลักสำหรับแบบฝึกหัดเพื่อพัฒนาความเข้าใจทั้งการอ่านและการฟัง ผู้เข้าร่วมชมรมจะสามารถทำคลิบเสียงและวีดีโอได้ด้วยตัวเอง เพื่อบอกเล่าชีวิตในวิกฤตการณ์โรคระบาด เป็นต้น

Stefan Göpel ระบุต่อว่า “เราต้องการให้ทุกคนสามารถทำแบบฝึกหัดเสร็จภายในเวลา 90 ถึง 120 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด เพราะครูผู้สอนแต่ละคนต่างก็มีงานประจำของตัวเอง” “ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้เข้าร่วมแต่ละคนจึงแบ่งเวลาเรียนได้ด้วยตัวเอง กล่าวคือ ไม่มีการจัดนัดประชุมออนไลน์ แต่จะเน้นการแลกเปลี่ยนสื่อสารผ่านพื้นที่แสดงความคิดเห็นใน Moodle ซึ่งผู้เข้าร่วมจะสามารถแนะนำติชมการบ้านที่ทำเสร็จระหว่างกันและกันได้” นอกจากการสนทนาในพื้นที่ดังกล่าว ผู้เข้าร่วมยังร่วมกันจัดทำแผ่นรวมคำศัพท์ โดยจะรวบรวมคำศัพท์ใหม่ทั้งหมดเข้าไว้ในที่เดียวกัน เพื่อให้ทุกคนเห็นพัฒนาการทางการเรียนรู้ของตัวเองในแบบที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การเรียนรู้แบบไม่ประสานเวลาดังกล่าวยังมีข้อดีในการช่วยให้ผู้เรียนทุกคนที่ต่างก็มีพื้นฐานทางภาษาไม่เท่ากัน สามารถเลือกเรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับตัวเองได้ โดยต่างก็สามารถดูสื่อการสอนต่างๆ ได้หลายครั้ง หาความหมายคำศัพท์หรือค้นหาข้อมูลอื่นๆ เองได้ “ตอนนี้ผู้จัดทำโครงการอย่างพวกเราก็รู้สึกตื้นเต้นกับผลการประเมินโครงการและคำติชมของครูผู้สอนที่เข้าร่วม เพื่อที่เราจะได้เริ่มคิดว่าเราจะทำโครงการดังกล่าวต่อไปหรือไม่”